คนน่ารัก

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ระบบศึกษาตัวการภาษาไทยวิบัติ

ที่มา: www.oknation.net/blog/Germany/.../entry-1

            ราชบัณฑิต  ห่วงภาษาไทยวิบัติ  เพี้ยนทั้งพูดและเขียน  ชี้วัยรุ่นใช้คำผิดๆ  ในอินเทอร์เน็ตจนเคยชิน  ติงนักจัดรายการโทรทัศน์และนักร้องเป็นตัวอย่างไม่ดี  ด้าน  "ส.พลายน้อย"  ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย  แนะครูต้องเน้นสอนให้เด็กอ่านวรรณคดีหน้าห้อง  สร้างทักษะการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ในระหว่างวันที่  27-29  กรกฎาคมนี้  กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ  ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  โดยจัดกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ  เพื่อส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม  และในวันที่  29  กรกฎาคม   เวลา  08.30 น.  นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี  จะเดินทางมามอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย   ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น  ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น  ผู้ประพันธ์เพลงดีเด่น  และผู้ขับร้องดีเด่นประจำปี  2552

     ศ.ดร.กาญจนา  นาคสกุล  ราชบัณฑิต  สำนักศิลปกรรม  ประเภทวรรณศิลป์  สาขาภาษาไทย   อดีตผู้จัดรายการภาษาไทยวันละคำ  กล่าวถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันว่า  วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีการใช้ภาษาไทยผิดพลาดมากที่สุด   ทั้งการพูดและการเขียนไม่ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล  มีการดัดแปลงคำ  ตัวสะกด  ตัวการันต์ให้ผิดเพี้ยนไปตามกระแสนิยม  รวมทั้งการออกเสียงรวบคำหรือตัดคำให้สั้นลง   ใช้คำควบกล้ำไม่ถูกต้องจนเกิดความเคยชิน  เมื่อเขียนไปจึงไม่ถูกต้อง  ส่วนมากจะเกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต  แม้จะไม่เป็นทางการ  แต่หากใช้คำผิดตลอดเวลา  ก็จะไม่รู้ว่าภาษาไทยที่ถูกต้องนั้นเขียนอย่างไร

     "สิ่งที่น่าห่วงคือ  การใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องในวัยเด็ก  จะส่งผลกระทบต่อการเรียนหนังสือในระดับสูงขึ้นไป  เพราะไม่สามารถเรียบเรียงข้อความหรือเขียนเรื่องราวยาวๆ  ได้  และใช้ข้อความไม่สมบูรณ์  แต่ละประโยคไม่ปะติดปะต่อกัน  กระโดดข้ามไปข้ามมา  คนอ่านก็ไม่เข้าใจว่าเราต้องการสื่อสารอะไร  และมีปัญหาการเรียนในที่สุด"  ศ.ดร.กาญจนากล่าว

     ราชบัณฑิต  สาขาภาษาไทย  ชี้ให้เห็นว่า  ทุกวันนี้มีคำหรือสำนวนภาษาใหม่ๆ  เกิดขึ้นตลอดเวลา  ราชบัณฑิตยสถานพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลไปอยู่ในคลังคำ  แต่มีหลายคำที่มีความหมายไม่ดี   คำหยาบคาย  ก็ไม่ควรใช้  เช่น  เด็กผู้หญิงสมัยนี้ชอบนุ่งกระโปรงเอวต่ำ  ก็จะพูดว่า   นุ่งกระโปรงเสมอจิ๋ม  และกลุ่มรักร่วมเพศ  ก็ใช้คำว่า  อีแอบ  เก้งกวาง  เพื่อเรียกคนที่เป็นเกย์กะเทย  ก็ไม่ถูกต้องเพราะเป็นคำล่อแหลมไม่สุภาพ  และภาษาเก่าเปลี่ยนความหมาย  ส่วนศิลปินนักร้องออกเสียงไม่ถูกต้อง  เช่น  ร.เรือ  และ  ล.ลิง  อย่างไรก็ตาม  ภาษามีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้  แต่ต้องยึดแก่นหรือหลักการใช้ให้ถูกต้อง

     "สาเหตุที่ใช้ภาษาไทยผิดกันเยอะ  เพราะระบบการศึกษา  ครูไม่สอนให้นักเรียนเขียนหนังสือ  บันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวความคิด  เวลาสอบก็ใช้วิธีกากบาทหรือวงกลมลงในช่องคำตอบ  ทำให้ไม่มีทักษะการเขียนอย่างถูกต้อง"  ศ.ดร.กาญจนาเผย
     ขณะเดียวกัน  สื่อมวลชนยังมีปัญหาใช้ภาษาไทย  เช่น  การใช้ประโยคผิด  ประโยคสับสน  คำฟุ่มเฟือย  ข้อความกำกวม  โดยเฉพาะรายการต่างๆ  ทางโทรทัศน์  ใช้คำหยาบ  สองแง่สองง่าม  คิดจะพูดอะไรก็ได้เพื่อเน้นความบันเทิง  แต่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ชม  ดังนั้น  ในวันที่  30  กรกฎาคมนี้  จะมีการจัดโครงการฝึกอบรมเรื่อง  สื่อไทยร่วมสร้างสรรค์  ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องให้กับนักจัดรายการสื่อวิทยุและโทรทัศน์  เพื่ออนุรักษ์ภาษาไทยมิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม  และส่งเสริมภาษาไทยให้ผู้ใช้ประจักษ์ในคุณค่ายิ่งขึ้น
     นายสมบัติ  พลายน้อย  นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา  ส.พลายน้อย  ซึ่งได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย   ประจำปี  2552  ระบุว่า  ปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นจากการละทิ้งระบบการเรียนการสอนแบบเดิม  ซึ่งเมื่อก่อนครูจะให้นักเรียนอ่านหนังสือหน้าห้อง  เป็นหนังสือประเภทวรรณคดีและบทกลอนต่างๆ  เพื่อฝึกฝนเด็กให้เรียนรู้จดจำหลักการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง  และเน้นการเขียนเรียงความให้สามารถใช้คำและประโยคเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  แต่ครูสมัยนี้ไม่สอนแล้ว  จึงไม่รู้ว่านักเรียนเขียนหรืออ่านผิดพลาด
     ส.พลายน้อยกล่าวอีกว่า   วัยรุ่นมักจะใช้คำพูดปะปนกับภาษาเขียน  ทำให้ภาษาไทยเสื่อมไป  เช่น  คำว่า  ใช่ไหม  ก็เขียนเป็น  "ช่ายมั้ย"  คำว่าสนใจไหม  เขียนเป็น  "สนมั้ย"  เป็นต้น  มักจะปรากฏอยู่ในหนังสืออ่านเล่น  ใช้คำไม่อยู่ในร่องในรอยของหลักภาษา  เขียนไปตามความคิดโดยไม่กลั่นกรองว่าจะมีใครเข้าใจหรือไม่  แม้แต่นักศึกษาปริญญาตรีที่ตนเข้าไปบรรยายการใช้ภาษาไทย  ก็ยังใช้คำผิดและไม่เคยอ่านหนังสือวรรณคดีไทยเลย.