คนน่ารัก

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

บทความทางวิชาการเรื่อง

บทความทางวิชาการเรื่อง
"ทำไมการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า"

โดย...พ.ต.ต.หญิง อาภรณ์ ส่งแสง สว.ฝ่ายบริการการศึกษา ศฝร.ภ.8
ทำไมระบบการศึกษาไทยจึงพัฒนาช้า
              
"การศึกษา" นับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนไปถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน ดังนั้นการพัฒนาคนสามารถทำได้หลาย ๆ รูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวล้ำนำโลกไปมาก การศึกษาก็ต้องพัฒนาไปให้ทันกับโลก
              
สำหรับการศึกษาในประเทศไทย หากดูจากสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมหลาย ๆ ฝ่ายกำลังเข้าใจเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือการศึกษาของไทยกำลังมีปัญหา จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากสังคม ซึ่งมีการทำวิจัยออกมาหลาย ๆ ครั้งที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการศึกษาในบ้านเรา ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยเปรียบเสมือนสายพานความป่วยไข้ทางสังคมที่สะท้อนถึงปรากฏการณ์ความอ่อนแอของทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันครอบครัวอ่อนแอ พื้นที่อบายมุขขาดการควบคุม อันเป็นปฐมเหตุของปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ไม่ว่าเป็นปัญหาติดห้าง เที่ยวกลางคืน กินเหล้า สูบบุหรี่ และมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อันจะนำไปสู่ผลกระทบกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย
              
เคยมีการสัมมนาเรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมที่ผิดของวัยรุ่นไทยในปัจจุบันมีความรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤติทางสังคม ซึ่งปัญหาอันดับหนึ่งคือ ยาเสพติด รองลงมาคือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรโดยเฉลี่ยจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุ 16 ปี เป็นที่มาของการทำแท้ง การทอดทิ้งเด็ก เด็กถูกทำร้าย การติดเชื้อเอดส์ และการขายบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอุบัติเหตุจากความมึนเมา คึกคะนอง ท้าทายกฎระเบียบ ส่วนปัญหาที่กำลังมีแนวโน้มขยายตัวและรุนแรงในวัยรุ่นคือ การทำร้ายผู้อื่นและทำร้ายตนเอง โดยการคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนาและชุมชน รวมถึงสื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและรีบแก้ไขปัญหาวัยรุ่น
              
ผลจากการติดตามการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 6 ปี หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยประเมินจากคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 17,562 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 49.1 ของโรงเรียนทั้งหมด พบว่า การจัดการเรียนการสอนของครูยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ยังมีคุณภาพอยู่ในระดับร้อยละ 39.2 การจัดกิจกรรมที่กระตุ้นผู้เรียนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ มีคุณภาพอยู่ระดับ ร้อยละ 13.5 และครูสามารถนำผลการประเมินมาปรับการเรียนและเปลี่ยนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพเพียงร้อยละ 21.6 ของสถานศึกษาทั้งหมด การประเมินคุณภาพทางด้านผู้เรียนพบว่า ยังมีผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนระดับต่ำมากในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณและความคิดสร้างสรรค์ มีคุณภาพระดับดีเพียงร้อยละ 11.1 และการมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพดีเพียงร้อยละ 26.5 ของสถานศึกษาทั้งหมด ส่วนผลการประเมินของผู้ตรวจราชการ พบว่า โครงสร้างการบริหารการศึกษาในส่วนกลาง ยังขาดการประสานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนภูมิภาคพบว่าผู้แทนกระทรวงในจังหวัดยังไม่ชัดเจน การกระจายอำนาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่สำคัญครูจำนวนมากยังสอนแบบเดิม ขาดความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะครูในโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาสพัฒนามาก เพราะไม่สามารถทิ้งห้องเรียนได้ การติดตามผลยังไม่เข้มแข็ง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทางการศึกษา
              
สาเหตุที่ทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาช้า วิเคราะห์ได้ดังนี้
              
1. ระดับนโยบาย
              
ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งเป็นระดับประเทศ จะเห็นได้ว่า รัฐบาลหลายยุคยังให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาในระดับรองเมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆ ความจริงแล้วเรื่องการศึกษาถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งมีข้อที่น่าสังเกตว่าผู้ที่จะมารับผิดชอบกำกับดูแลการศึกษาของชาติกลับกลายเป็นว่าไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความรู้มีความเข้าใจงานด้านการศึกษา หรือมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านการศึกษาไม่มากนัก กล่าวคืออาจมีความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพอื่น แต่เมื่อมารับผิดชอบงานทางด้านการศึกษากลับไม่สามารถกำกับดูแล และกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และนโยบายการศึกษาของชาติได้ ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาและแนวทางการปฏิบัติกับบุคลากรทางการศึกษา ทั้งๆที่ในวงการศึกษามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างมากมาย
              
2. ระดับผู้ปฏิบัติ
              
ในระดับผู้ปฏิบัติอันดับแรกก็ต้องนึกถึงครู ผู้ให้ความรู้ ประสิทธิประสาทวิชา เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับนักเรียน สำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่าในอดีตนั้นอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ มีเกียรติ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะที่จบออกมาเป็นครูนั้น นักเรียนจะให้ความสำคัญน้อย เลือกเป็นอันดับท้าย ๆ หรือสอบเข้าอะไรไม่ได้จึงต้องไปเรียนครู ได้ยินคนในสังคมกล่าวกันอย่างนั้น ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาเพื่อเป็นครูจริง ๆ มีน้อยลงทุกวัน เมื่อไม่มีจิตวิญญาณในการเป็นครูแล้ว การจะสอนให้ได้ประสิทธิภาพดีก็น้อยลงตามความสำคัญ จะทำอย่างไรให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครูและต้องการเป็นครู เลือกคณะครูเป็นอันดับแรก ๆ และสิ่งที่ตอกย้ำลงไปอีกคือครูจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ที่มีหนี้สินมาก เนื่องมาจากค่าตอบแทนจากอาชีพการเป็นครูน้อย ไม่เพียงพอต่อการครองชีพกับสังคมปัจจุบัน ทำให้ครูส่วนหนึ่งสนใจที่จะหารายได้เลี้ยงครอบครัวมากกว่าการสอนหนังสือ เช่นการสอนพิเศษ ตั้งใจทำอาชีพเสริมมากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณที่เหลืออยู่น้อยแล้ว ยังมีเรื่องของการประเมินผล ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพโดยเฉพาะการเลื่อนวิทยฐานะไม่ได้วัดจากความสำเร็จของนักเรียน แต่วัดจากผลงานทางวิชาการ ดังนั้นครูบางส่วนจึงสนใจที่จะทำผลงานทางวิชาการมากกว่าการสอนเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้จริง ๆ ครูจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การศึกษาไทยพัฒนาได้ช้า
              
3. ระบบการศึกษาของไทย
              
การศึกษาของประเทศไทยเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมของคนไทยที่ได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่โบราณให้เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีวันไหว้ครู ดังนั้นครูสมัยก่อนจะดุและนักเรียนจะเชื่อฟังมาก นักเรียนจะกลัว ไม่กล้าถาม ไม่กล้าตอบ ทำให้ปลูกฝังมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นระบบที่ฟังจากครูอย่างเดียว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ไม่เป็น การศึกษาไทยเป็นระบบป้อนเข้าอย่างเดียว ไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน หรือมีก็น้อยมาก มีการสนใจใฝ่หาความรู้ด้วยตนเองน้อย ทำให้เด็กคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่เป็น ยิ่งมีการเน้นย้ำด้วยการสอบโดยอาศัยความจำเป็นหลักนักเรียนก็จะท่องจำอย่างเดียว ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น สังคมปลูกฝังให้นักเรียนต้องเป็นคนเก่ง ซึ่งนักเรียน ก็จะแข่งกันโดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น ๆ เมื่อผิดหวังรุนแรงก็ไม่สามารถแก่ปัญหาตนเองได้ เหล่านี้เป็นต้น แต่ก็เห็นว่าในปัจจุบันจะได้พัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแล้ว เด็กกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น ก็นับว่าเป็นจุดที่ดีที่จะพัฒนาให้ทัดเทียมประเทศอื่นต่อไป
              
นอกจากนั้นการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน เครื่องมืออุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนก็แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาลด้วยกัน หรือโรงเรียนเอกชน ต่างจังหวัดนั้นไม่มีอุปกรณ์สื่อการสอนเลยในขณะที่กรุงเทพฯ มีมากมาย ทำให้เด็กมีมาตรฐานไม่เหมือนกันอยู่แล้ว และนำเกณฑ์เดียวกันมาวัดทำให้เกิดความล้มเหลวทางการศึกษา และในโรงเรียนก็ไม่ได้สอนเต็มที่เพราะต้องการให้นักเรียนมาเรียนพิเศษอันนำมาซึ่งรายได้เพิ่ม สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาช้าของระบบการศึกษาอีกอย่างหนึ่งคือสถาบันกวดวิชา จะเห็นได้ว่าเป็นที่น่าสนใจมาก มีผู้เรียนเยอะเสียค่าเล่าเรียนแพงมาก แต่ธุรกิจพวกนี้ก็ยังอยู่ได้ แสดงว่ามีคนเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหากมีการสอนที่ดีในโรงเรียนแล้วเด็กก็จะไม่ต้องมาเรียนพิเศษมากมายขนาดนั้น
               บทสรุป
              
จากปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้น มีทั้งสาเหตุหลักและสาเหตุรองหลายประการที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาของไทยยังไปไม่ถึงไหน พัฒนาได้ช้า แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่จะผ่าตัดการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น ทั้งนี้การแก้ปัญหาการศึกษาบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ผู้ที่จะมากำกับดูแลงานทางด้านการศึกษา รัฐบาลจะต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษาจริงๆ มารับผิดชอบ นอกจากนั้นการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องกำหนดให้มีหัวข้อวิชาคุณธรรม จริยธรรมไว้ในทุกหลังสูตรทุกระดับ จะต้องเพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับครู การเลื่อนวิทยฐานะของครูต้องมีความเหมาะสมและเป็นธรรม และที่สำคัญในส่วนของผู้ปกครอง สื่อมวลชน สถาบันทางศาสนา ต้องแสดงบทบาทและหน้าที่ในการมีส่วนรวมกับการพัฒนาการศึกษาได้ด้วย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทและหน้าที่และร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง ผู้เขียนเชื่อว่าการศึกษาของไทยจะพัฒนาได้อย่างไม่ช้าเหมือนที่ผ่านมา

บทความ ประชาธิปไตยที่ “มนุษย์เท่าเทียมกัน”

ประชาธิปไตยที่มนุษย์เท่าเทียมกัน


นักปรัชญาชายขอบ
หากความหมายของประชาธิปไตยคือ อำนาจตัดสินใจทางการเมือง และหรือที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะเป็นของประชาชนความหมายดังกล่าวนี้จะไม่มีทางทำให้เป็นจริงได้หากปราศจากการยอมรับหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน
แต่หลักการดังกล่าวนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่ามนุษย์นั้นแตกต่างกันอย่างน้อยก็ 2 ด้านใหญ่ๆ คือความแตกต่างด้านชีววิทยา เช่น บางคนเกิดมาสมประกอบ บางคนเกิดมาพิการ บางคนร่างกายอ่อนแอ บางคนแข็งแรง บางคนโง่ บางคนฉลาด ความสามารถในการเรียนรู้ ความคิดความอ่านเป็นต้นของคนเราไม่เท่ากัน
ซึ่งความไม่เท่ากันดังกล่าวนั้นทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ความแตกต่างด้านสังคมวิทยา เช่น ระดับการศึกษา อาชีพ ทรัพย์สิน อำนาจ รสนิยม ชาติตระกูล ความสำเร็จ เกียรติ ชื่อเสียง ยศถาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ
สังคมที่เรียบง่ายในยุคเกษตรกรรมความแตกต่างเหล่านี้อาจมีไม่มากนัก แต่สังคมที่ซับซ้อนเช่นปัจจุบันความแตกต่างดังกล่าวมีมากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดชนชั้นทางสังคม เช่น คนชั้นสูง คนชั้นกลางระดับสูง คนชั้นกลางระดับกลาง คนชั้นกลางระดับล่าง คนชั้นต่ำหรือชนชั้นรากหญ้า
ความแตกต่างทางระดับการศึกษา อาชีพ ทรัพย์สิน อำนาจ รสนิยม ฯลฯ ทำให้คนเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นเฉพาะในชนชั้นของตนเองทั้งในด้านการทำงาน กิจกรรมทางสังคม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันทุกข์สุข การพักผ่อน กิจกรรมบันเทิง ฯลฯ และรวมไปถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการกำหนดประเด็นสาธารณะต่างๆ ด้วย
แม้ความแตกต่างทางชนชั้นในปัจจุบันจะไม่ใช่ความแตกต่างที่เข้มข้นเหมือนความแตกต่างภายใต้ระบบศักดินา แต่ก็เป็นความแตกต่างที่สะท้อนให้เห็น ช่องว่างหรือความไม่เป็นธรรมทางสังคมอย่างน่าตกใจ ดังข้อสังเกตของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่ว่า
“... ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย  หรือระหว่างคนข้างล่างกับคนข้างบน  คือ  ภาพสะท้อนมหภาคของความไม่เป็นธรรม  เราเป็นคนเหมือนกันควรจะมีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคนเหมือนกัน   แต่ทำไมจึงแตกต่างกันมากเหลือเกินระหว่างคนข้างล่างที่ปากกัดตีนถีบไม่พอที่จะเลี้ยงลูก  กับคนข้างบนที่อาจมีรายได้เป็นล้านๆ  บาทต่อเดือน  เรามีปัญหาความไม่เป็นธรรมทุกด้าน  ทั้งทางเศรษฐกิจ  ทางสังคม  ทางกฎหมายและการเข้าถึงทรัพยากร  เรารู้หรือไม่ว่ากฎหมายและการประยุกต์ใช้กฎหมายมีอคติต่อคนจน  ความขัดแย้งทั่วแผ่นดินเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรที่รัฐไม่อำนวยความเป็นธรรม”  [1]
ประเด็นคือการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ และหากประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน และเป็นอำนาจบนหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันเพราะมีแต่มนุษย์ที่เท่าเทียมกัน (หรือสมาชิกแห่งสังคมที่ยืนยันหลักการ ความเสมอภาค”) เท่านั้นเมื่อมาต่อรองอำนาจและผลประโยชน์กัน ผลลัพธ์ของการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์จึงจะออกมาอย่างเป็นธรรม
ฉะนั้น เราไม่อาจจินตนาการถึงสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งปฏิเสธหลักการความเท่าเทียมของมนุษย์เช่น ถือว่าในสังคมนั้นต้องมีบุคคลพิเศษที่อยู่เหนือมนุษย์อื่นๆ ทั้งในแง่ชาติตระกูล คุณธรรม การมีอภิสิทธิ์ หรืออำนาจที่ไม่มีประชาชนคนใดอาจตั้งคำถาม ตรวจสอบ หรือกำกับให้รับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้นได้
แต่ในสังคมบ้านเรานั้น ไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการเราก็เห็นความเป็นจริงของสังคมที่ไม่อาจจินตนาการถึงนั้นอยู่เต็มตา ทั้งยังเห็นช่องว่างทางชนชั้นทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมซึ่งนับวันจะถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ประชาธิปไตยที่อำนาจของประชาชนอยู่บนพื้นฐานของหลักการความเท่าเทียมของมนุษย์จึงยากจะเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่เชื่อย่างลึกซึ้งในหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” [2] แต่จากที่กล่าวมาเราอาจสรุปข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับหลักการนี้ให้ชัดขึ้น คือ
1.ความเชื่อร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมของสังคม (ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและวัฒนธรรมตกทอดจากอดีต) ที่ยอมรับอภิสิทธิชนที่อยู่เหนือการตั้งคำถามและการตรวจสอบในทุกรณี เป็นความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่ขัดแย้ง เชิงอุดมการณ์ต่อหลักการมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างสิ้นเชิง และนี่จึงเป็นอุปสรรคสำคัญของการเกิดประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนซึ่งเท่าเทียมกันสามารถต่อรองในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์กันได้อย่างยุติธรรม
2.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความแตกต่างด้านชีววิทยา สังคมวิทยา หรือปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่ใช่ความขัดแย้ง เชิงอุดมการณ์กับหลักการ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันเพราะหากไม่ยึดเอาความแตกต่างเหล่านั้นมาเป็นเงื่อนไขในการจำแนกความแตกต่างทางคุณค่าหรือศักดิ์ศรีของมนุษย์ (เช่น ไม่ถือว่าคนรวยมีคุณค่าความเป็นคนมากกว่าคนจน ฯลฯ) สังคมก็ยังอาจรักษาอุดมการณ์ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันเอาไว้ได้
เช่น ไม่ว่าคนจนคนรวยก็ต้องเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ถูกตั้งคำถาม ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ และวาง ระบบที่ทำให้ทุกคนในฐานะสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยได้เข้าสู่เวทีการต่อรองในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์อย่างเสมอภาค (มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าเชื่อในเรื่องอภิสิทธิชนตามข้อ 1 จะไม่มีทางเป็นไปได้เลย)
ดังนั้น ก้าวต่อไปของประชาธิปไตยในบ้านเรา จึงต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายสำคัญอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือ
1.เราจะสลายความเชื่อหรืออุดมการณ์ยอมรับอำนาจพิเศษของอภิสิทธิชน ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่และวัฒนธรรมใหม่ที่ตั้งมั่นอยู่บนหลักการมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันได้อย่างไร โดยประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ
2.เราจะจัดการกับปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร จึงจะทำให้เกิดสังคมที่มีการกระจายสิทธิ อำนาจ และผลประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างเป็นธรรม หรือทำอย่างไรที่ประชาชนในทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ สังคม จะสามารถขึ้นสู่เวทีต่อรองในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ อย่างเท่าเทียมมากขึ้น
ก็ได้แต่ฝากปัญหาให้ช่วยกันคิดหาทางแก้นะครับ เพราะเป็นปัญหาที่ผมเองก็จนด้วยเกล้าจริงๆ
 ที่มา  http://www.muslimthai.com/main/1428/content.

บทความเกี่ยวกับสื่อการสอน

บทความเกี่ยวกับสื่อการสอน


บทความการพัฒนาครูสู่เทคโนโลยีสื่อการสอน
ในปัจจุบันสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเทคโนโลยีสื่อการสอนที่ได้นำเทคโนโลยีด้านการสอนสมัยใหม่มาใช้เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการศึกษา ทำให้ครูผู้สอนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะ มีคุณธรรมให้ทันต่อความเจริญก้าวหน้าและหลักนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถพึ่งตนเองได้ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและหลักนิยมของโรงเรียน
ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้แก่ การให้การศึกษาและความรู้ครูผู้สอน กระบวนการเรียนการสอนเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูผู้สอนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาเทคโนโลยี สื่อการสอน วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือเรียกว่าการนำเทคโนโลยีสื่อการสอนมาประกอบการสอนนั่นเอง เทคโนโลยีการสอนนั้นเป็นเสมือนสะพานเชื่อมประสานระหว่างทฤษฎีการสอนกับการปฏิบัติการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มพูนผลการเรียนให้ตรงตามจุดมุ่งหมายของบทเรียนนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับ
กิดานันท์ มลิทอง (2536 : 75) ได้กล่าวว่า สื่อการเรียนการสอนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในการเรียนการสอนนับแต่ออดีตจนถึงปัจจุบันเนื่องจากเป็นตัวกลางที่ช่วยให้การสอนระหว่างผู้สอนและผู้เรียนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจความหมายในเนื้อหาบทเรียนได้ตรงตามที่ผู้สอนต้งอการไม่ว่าสื่อนั้นจะเป็นสื่อแบบใด ชนิดใดก็ล้วนแต่เป็นทรัพยากรที่สามารถอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น การใช้สื่อการสอนต้องเลือกสื่อที่มีความเหมาะสม และตรงตามจุดประสงค์การสอนโดยการวางแผนการสอนอย่างเป็นระบบในการใช้
สนั่น ปัทมะทิน (2505 : 10) ที่กล่าวว่า การนำสื่อการสอนมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพเป็นวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทางหนึ่งเพราะการสอนเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การที่จะช่วยให้การเรียนและการสอนให้มีประสิทธิภาพนั้นจะต้องใช้สื่อการสอนอย่างเป็นระบบ แต่ครู-อาจารย์ ส่วนมากมักจะมองข้ามความสำคัญของสื่อการเรียนการสอนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนในระดับอุดมศึกษาและการสอนผู้ใหญ่ ซึ่งผู้สอนเห็นว่าผู้เรียนไม่ใช่เด็ก ๆ จึงสอนด้วยวิธีการบรรยายและค้นคว้าก็เพียงพอที่จะเกิดการเรียนรู้แล้ว
ความจริงแล้ว ผู้สอนจำเป็นต้องพยายามหาลู่ทางที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และทักษะ ตลอดจนความสามารถทำอะไรได้จริงตามความมุ่งหมายโดยเร็วที่สุด และตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้เรียนไว้อย่างถาวร ในการส่งเสริมความรู้และทักษะผู้สอนจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ การสอนหรือสื่อการสอนมาประกอบการสอนด้วย

บทความเรื่อง ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้

ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้
            ผศ.ศิวกานท์ปทุมสูติ
             
           
                ผมขอสารภาพว่า  ผมเป็นครูภาษาไทยที่เคยหลงทางมาแล้ว  โดยเฉพาะในเรื่องของการสอนนักเรียนเขียนกาพย์กลอน   นั่นก็คือผมเคยสอนแบบเริ่มต้นด้วยการเปิดประตูสู่ความรู้จักรูปแบบฉันทลักษณ์  ชักโยงให้เข้าใจนิยามความหมาย  อธิบายแผนผัง  ยกตัวอย่างบทประพันธ์ชั้นดี  และชี้ให้เห็นข้อกำหนดนิยมของร้อยกรองแต่ละประเภทที่สำคัญ   จากนั้นก็ให้ผู้เรียนฝึกเขียนตามขั้นตอนและกิจกรรม
        การสอนในลักษณะดังกล่าว   ดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นการสอนที่ดี  และผมก็เชื่อว่าครูภาษาไทยโดยทั่วไปก็คงจะสอนแบบเดียวกันนี้    แต่ผมกลับได้พบความจริง (จากประสบการณ์) ว่านั่นเป็นการสอนที่สร้างบาปแก่วิชาการประพันธ์ไทยอย่างใหญ่หลวง   มันเป็นบาปที่ซุกซ่อนที่ทั้งครูและนักเรียนต่างก็ไม่รู้ตัว   คือไม่รู้ตัวว่ากำลังสร้างคอกขังแก่ถ้อยคำและจินตนาการที่งดงาม   มันก่อให้เกิดความยากลำบาก  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายในการเรียนแก่นักเรียนทีละเล็กทีละน้อย  จนกระทั่งพวกเขาสะสมพฤติกรรมเชิงปฏิปักษ์หรือปฏิเสธวิชานี้ขึ้นภายใน  ทั้งไม่รักที่จะเขียนและอ่านงานร้อยกรอง
            ทางเลือกใหม่ที่ผมพบในวันนี้ มันคือทางสายเก่าในรากเหง้าวิถีของชาวบ้านนั่นเอง  
            ผมได้คำตอบจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านหลายต่อหลายคนว่า  การหัดเพลง  ไม่ว่าจะหัดร้องหรือหัดด้นเพลงก็ตาม   ต่างก็เริ่มต้นมาจากการหัดร้องเพลงครูหรือเนื้อร้องของเก่ากันมาก่อนทุกคน   หัดร้องตามครู (ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นปู่รุ่นย่า รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือรุ่นพี่)  หัดรับเพลงเป็นลูกคู่  เป็นคอสองคอสามตามโอกาส  หัดปรบมือเข้าจังหวะ  หัดเล่นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพลงชนิดต่างๆ  ซึ่งก็จะ เป็นเพลง ขึ้นทีละเล็กละน้อย  จนมันรู้สึกกลมกลืนรื่นไหลอยู่ในชีวิต   เมื่อได้เนื้อร้องต้นแบบจากของเก่าสะสมไว้เป็นต้นทุนมากเข้า   ถึงคราวร้องเล่นก็สามารถยักย้ายแยกด้นเป็นตัวเป็นตนของตัวเองได้มากขึ้นตามลำดับ   นานวันเข้าก็แก่กล้า   มีทางเลือกมีทางเดินเป็นของตนเองที่ชัดเจนตามแต่ภูมิปัญญา  ความฝักใฝ่  และความแตกฉานของแต่ละบุคคล   วิถีของนักเพลงชาวบ้านไม่มีใครเลยที่เริ่มหัดเพลงจากการเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์ (จากตำราหรือจากแผนผังใดๆ) แม้บางคนไม่เคยเรียนหนังสือก็ยังสามารถร้องเพลงได้และผูกเพลง (แต่งเพลง) ได้อย่างน่าอัศจรรย์
        ในทำนองเดียวกัน  เด็กๆ หรือผู้ใหญ่คนใดก็ตามที่ร้องเพลงลูกทุ่ง  ลูกกรุง  หรือเพลงสตริงส์  หรือเพลงที่เรียกชื่ออย่างอื่นใดก็ดี   ต่างก็ร้องตามเพลงต้นแบบที่มีคนอื่นร้องมาก่อน   ร้องได้โดยไม่ต้องเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์เพลง  หรือโน้ตเพลง  หรือหลักการแต่งเพลงเหล่านั้น   จากการร้องได้   ก็แต่งเพลงล้อหรือเพลงแปลงได้   บางคนที่สนใจมาก  รักมากชอบมาก  ก็อาจถึงขั้นลองแต่งเนื้อใหม่ทำนองใหม่ขึ้นเอง  เรียนรู้ลักษณะการแต่งเพลง (ฉันทลักษณ์เพลง) จากการสังเกตเพลงของครูเพลงต่างๆ ที่สร้างสรรค์ไว้   สังเกตคำสัมผัสคล้องจอง  ท่วงทำนองในแต่ละท่อนแต่ละตอน  สังเกตเสียงสังเกตคำ  โวหาร  และการเดินทางของเนื้อหา   ลองผิดลองถูกด้วยรักด้วยสนุก  มีความสุขในการคิดการแต่ง   จนกระทั่งบางคนอาจไต่บันไดไปถึงขั้นเป็นศิลปินนักร้องหรือนักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียง   ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีวิถีที่มาที่เป็นธรรมชาติชีวิตและศิลปะดังกล่าว   มันเป็นการฝึกหัดจากของจริงและตัวตนที่แท้จริงของเพลง  หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้ทฤษฎี (ที่พลอยรู้เพิ่มพูนขึ้น) ในปฏิบัติ  มิใช่เรียนปฏิบัติจาก (การเรียนรู้) ทฤษฎี (มาก่อน)  
        การฝึกหัดแต่งกลอนหรือร้อยกรองประเภทใดก็ตาม   วิธีที่ดีที่สุดที่ผมพบในขณะนี้ก็คือ  การให้นักเรียนหัดอ่านกลอน  ท่องกลอน  หรือจะขับขานสร้างสรรค์ทำนองอย่างไรก็ได้ (ตามที่สนุกจะทำ)  เลือกกลอนดีๆ  หรือกาพย์ดีๆ  หรือโคลงดีๆ  หรือฉันท์ดีๆ  ที่หมายให้กระทบใจ (โดนใจ) หรือจับใจนักเรียนเข้าไว้เป็นเบื้องต้นก่อนมาเป็นต้นแบบ อาจใช้ทั้งการอ่านนำ อ่านตาม อ่านร่วมกัน หรือท่อง หรือขับขาน ฯลฯ ให้เกิดบรรยากาศของความรื่นรมย์และรื่นรสสม่ำเสมอ  ต่อเนื่อง  กลมกลืนในการเรียนการสอน  ในปกติชีวิตประจำวัน   จากนั้นจึงค่อยลองแต่งโดยไม่ต้องให้ความรู้เรื่องรูปแบบแผนผังหรือฉันทลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น   ซึ่งอาจจะใช้วิธีแต่งแปลงล้อเลียนก็ได้  เช่น
                    ใดใดในโลกล้วน   อนิจจัง
                คงแต่บาปบุญยัง              เที่ยงแท้
                เป็นเงาติดตัวตรัง             ตรึงแน่น  อยู่นา
                ตามแต่บาปบุญแล้            ก่อเกื้อรักษา
                                                (ลิลิตพระลอ) 
                           ใดใดในโลกล้วน            อนิจจัง
                คนบ่ดูหนังสือยัง              สอบได้
                คนดูหัวแทบพัง               สอบตก
                เพราะเหตุฉะนี้ไซร้            อย่าได้ดูมัน
                                                (มักพบตามผนังห้องสุขาในสถานศึกษา)
            โคลงแปลงล้อเลียนที่ยกมานี้มีนัยบอกอะไรอยู่หลายอย่าง  แต่ในที่นี้จะเลือกพูดถึงแต่กรณีของการแต่งร้อยกรองที่ผู้แต่งโคลงบทนี้กระทำ   นั่นคือผู้แต่งรายนี้เป็นผู้ที่มีต้นทุนความทรงจำคล่องคำคล่องจังหวะจากโคลงต้นแบบมาก่อน  ครั้นเมื่อมาได้รับความบันดาลใจบางอย่าง(เกี่ยวกับการดูหนังสือและการสอบ)เข้าก็เกิดแรงขับให้เขียนโคลงล้อเลียนเชิงเสียดสีบทนี้ได้  และเป็นการเขียนได้อย่างโดนใจผู้อ่าน(ผู้มีประสบการณ์ร่วม)ได้ไม่น้อยทีเดียว   นี่คือการเขียนตามวิถีธรรมชาติของศิลปะภาษาที่แฝงพลังอยู่ในชีวิต (ที่มีต้นทุนแห่งต้นแบบอยู่อย่างเพียงพอ)  
        ข้อควรระวังเป็นสำคัญอย่างยิ่งก็คือ  ครูจะต้องไม่มัวไปใส่ใจจับผิดเรื่องรูปแบบฉันทลักษณ์   ปล่อยให้นักเรียนเขาค่อยค้นหา  ค้นพบข้อสังเกต  ทั้งองค์ความรู้และความคิดจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกด้วยตัวของเขาเอง   ถ้านักเรียนสงสัยไต่ถาม  ครูก็อาจจะตอบอธิบายพอให้กระจ่างเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี   ไม่ควรอธิบายความรู้ทั้งหมดทั้งมวลที่ครูรู้   เพราะว่าทฤษฎีของการ บอกความรู้ นั้นได้ผลน้อยนัก
        สิ่งที่ครูควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพิจารณาผลงานของนักเรียนก็คือ  การให้ความสนใจเรื่องราวที่พวกเขาเขียน   ครูควรแสดงความสนใจใคร่รู้ใคร่ติดตาม  โดยอาจจะชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด   ความบันดาลใจ  เป็นต้นว่า  มีอะไรกระตุ้นหรือมีอะไรเป็นทุนความคิดความรู้สึกจึงเขียนเรื่องดังกล่าว   ต้องการจะบอกอะไรมากกว่าเนื้อหาถ้อยคำที่ปรากฏหรือไม่   มีอุปสรรคในการใช้คำหรือการเขียนตรงไหนบ้างไหม   เมื่อครูใช้วิธีดังที่ว่านี้  จะทำให้นักเรียนมีความตื่นตัวทางความคิด  ได้แง่มุมจากการสังเกตความคิดของคนอื่นซึมซับสู่การพัฒนากระบวนการคิดของตนเองให้งอกงามยิ่งขึ้น   จะทำให้การเขียนครั้งต่อๆ ไปของแต่ละคนมีความรัดกุมและพิถีพิถันต่อการนำเสนอเนื้อหาโดยธรรมชาติของแรงขับภายในที่ได้รับการกระตุ้นและพัฒนาอย่างถูกวิธี
               เมื่อนักเรียนไม่รู้สึกยาก  ไม่ต้องพะวงกังวลกับรูปแบบฉันทลักษณ์ในการเขียนร้อยกรองเบื้องต้นของเขา   พวกเขาก็จะก้าวเดินไปบนถนนกาพย์กลอนด้วยความมั่นใจ  สบายใจ  มีความสุข  ในขณะเดียวกันครูก็จัดกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดความงอกงามทางความคิดและคุณค่าของงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  วันหนึ่งก็จะถึงการขัดเกลารูปแบบฉันทลักษณ์ให้ลงตัวถูกต้องและดีงามสมบูรณ์ได้เองในที่สุด
        ผมจึงอยากเชิญชวนให้ครูภาษาไทยทั้งหลายลองหันมาสอนนักเรียนแต่งกาพย์กลอนกันด้วยวิธีนี้ดู   แล้วท่านจะพบว่าความเครียด  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายวิชาการประพันธ์ของนักเรียนจะลดลง   นักเรียนของท่านจะมีความรักภาษาวรรณศิลป์เพิ่มขึ้น  ในที่สุดก็จะนำพาให้พวกเขารักภาษาไทย   และรักครูภาษาไทยมากขึ้น