คนน่ารัก

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทความเรื่อง การอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ

การอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ
การอ่าน นับว่าเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพราะนักศึกษาจะต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อหลักคือ เอกสารการสอนเป็นสำคัญ ในเรื่องการอ่านนี้นักศึกษาคงจะเคยเห็นว่าบางคนมีความสามารถในการอ่านได้เร็วและยังเข้าใจในเนื้อหาที่อ่านได้ด้วย แต่บางคนอ่านได้ช้าและบางครั้งยังไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่อ่านไปด้วย ถ้าคนใดมีความสามารถในการอ่านดีแล้วจะได้ประโยชน์จากการอ่านมาก ถ้าสามารถอ่านได้เร็วก็จะทำให้มีเวลามากกว่าคนอื่น ๆ ในการทบทวนตำราก่อนสอบหรือมีเวลาสำหรับทำกิจกรรมอย่างอื่นได้มากขึ้นกว่าคนที่อ่านได้ช้ากว่า
การอ่านหนังสือไม่ใช่เพียงแค่อ่านข้อความตามตัวหนังสือที่มีไว้ในหนังสือให้จบเล่มเท่านั้น แต่การอ่านนั้นมีจุดประสงค์สำคัญคือการรับรู้ความหมาย และทำความเข้าใจกับข้อความที่เขียนเป็นตัวหนังสือ
การจะอ่านหนังสือให้มีประสิทธิภาพ นักศึกษาต้องรู้ว่าก่อนว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้อ่านหนังสือได้ขาดประสิทธิภาพ และ พยายามแก้ไขตามสาเหตุเหล่านั้น
สาเหตุที่ทำให้การอ่านหนังสือขาดประสิทธิภาพ มีดังนี้
1. การอ่านทีละคำ
2. การอ่านออกเสียง
3. ปัญหาเกี่ยวกับศัพท์เฉพาะ
4. การใช้วิธีเดียวกันตลอดในการอ่านทุกประเภท
5. การใช้นิ้วชี้ข้อความตามไปด้วยในขณะอ่าน
6. การอ่านซ้ำไปซ้ำมา
7. การขาดสมาธิในการอ่าน
ข้อเสนอแนะที่ช่วยให้นักศึกษาอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ
1. ไม่อ่านทีละคำ
การอ่านทีละคำทำให้อ่านหนังสือได้ช้า เพราะมุ่งหาความหมายของคำทีละคำ สามารถแก้ไขได้โดยตั้งใจไว้ว่า เมื่ออ่านหนังสือทุกครั้ง จะจับใจความสำคัญของประโยคด้วยการใช้สายตาเพียงครั้งเดียว และได้ความหมายทันที
2. ไม่อ่านออกเสียง
การอ่านหนังสือออกเสียงไปทีละตัว โดยทั่วไปติดมาจากนิสัยการอ่านสมัยชั้นประถม การอ่านออกเสียงไม่ว่าจะมีเสียงออกมาหรือมีเสียงในคอ การอ่านแบบนี้อ่านได้ช้าทั้งสิ้นเพราะมุ่งแต่ออกเสียงตามตัวหนังสือที่ปรากฎ การอ่านได้เร็วสามารถแก้ไขได้โดยพยายามทำให้การมอง เห็นรูปทรง และการประสมคำของตัวหนังสือ สามารถผ่านขั้นตอนการรับรู้ของเราไปสู่สมองได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาพินิจพิเคราะห์ว่า มันมีเสียงอะไรการแก้ไขให้ใช้นิ้วปิดปากในขณะอ่านตลอดเวลาจะทำให้อ่านได้ดีขึ้น และเมื่อปฏิบัติเช่นนี้จนติดเป็นนิสัยแล้ว จะพบว่าทำให้อ่านได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
3. ไม่มีกังวลเกี่ยวกับศัพท์เฉพาะ
การหยุดและกังวลเกี่ยวกับคำศัพท์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจะทำให้จังหวะในการอ่านและแนวคิดในการอ่านประโยคนั้นหายไป ดังนั้นแม้ว่าจะไม่รู้ศัพท์บางคำก็สามารถหาความหมายของศัพท์นั้นได้ โดยดูจากข้อความในประโยค ถ้าใช้ความคิดคิดตามตลอดเรื่อง
4. ไม่ใช้วิธีเดียวกันตลอดในการอ่านทุกประเภท
นักศึกษาควรใช้วิธีการอ่านที่แตกต่างกันในแต่ละเรื่องที่อ่าน เช่น อ่านเรื่องเบาสมองก็อ่านเร็วได้ ถ้าอ่านตำราวิชาการต้องใช้ความคิดพิจารณาเนื้อเรื่องก็ใช้เวลาอ่านนานขึ้นนั้นคือผู้อ่านต้องรู้จุดประสงค์ของเรื่องที่จะอ่านด้วย จึงจะได้ประโยชน์ที่แท้จริง
5. ไม่ใช้นิ้วชี้ข้อความตามไปด้วยในขณะอ่าน
จะทำให้อ่านได้ช้าลง การใช้สายตากวาดไปตามบรรทัดจะเร็วกว่าการใช้นิ้วชี้เพราะสายตาเคลื่อนที่เร็วกว่านิ้ว วิธีแก้นิสัยนี้อาจทำได้โดยใช้มือจับหนังสือหรือประสานมือกันไว้ในขณะอ่านหนังสือ
6. ไม่อ่านซ้ำไปซ้ำมา
การอ่านเนื้อเรื่องที่ไม่เข้าใจ เป็นการชี้ให้เห็นว่านักศึกษาไม่มั่นใจที่จะดึงเอาความสำคัญของเนื้อความนั้นออกมาได้ด้วยความสามารถของตนเอง เหตุนี้จึงทำให้อ่านช้าลงเพราะคอยคิดแต่จะกลับไปอ่านใหม่ แทนที่จะอ่านไปทั้งหน้าเพื่อหาแนวคิดใหม่ จงพยายามอ่านครั้งเดียวอย่างตั้งใจความคิดทั้งหลายจะค่อย ๆ มาเอง ไม่ต้องกังวลว่าตนเองอ่านไม่รู้เรื่อง
7. มีสมาธิในการอ่าน
การปล่อยให้ความตั้งใจและความคงที่ของอารมณ์ล่องลอยไปกับความคิดที่สอดแทรกเข้ามาขณะอ่าน จะทำให้ไม่ได้รับความรู้อะไรจากการอ่านเลย นักศึกษาจะต้องพัฒนาความสามารถ โดยฝึกจิตให้แน่วแน่มุ่งความสนใจอยู่ที่หนังสือเพียงอย่างเดียว
ความสามารถในการอ่านสามารถพัฒนาได้โดยการฝึกฝน ทำตาม ข้อเสนอแนะในการอ่านข้างต้น ถ้านักศึกษาพยายามฝึกฝนการอ่านให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อ่านให้ได้เร็วขึ้น ต่อไปนักศึกษาก็จะเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพในการเรียนและประสบผลสำเร็จในการศึกษา
[จาก การอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ข่าว มสธ. กันยายน 2539]
ที่มา : http://www.stou.ac.th/Offices/Oes/OesPage/Guide/article/n4.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น